บรรยากาศในพิพิธภัณฑ์
ข้อมูลพิพิธภัณฑ์
พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ ได้รับการพัฒนาขึ้นในปี พ.ศ.๒๕๔๖ เพื่อให้บริการความรู้ และให้เห็นถึงประโยชน์ ความสำคัญของเทคโนโลยีการสื่อสารและสารสนเทศต่อการดำรงชีวิตประจำวันและการพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ ภายในพิพิธภัณฑ์จัดแสดงนิทรรศการที่เล่าเรื่องราววิวัฒนาการของเทคโนโลยีการสือสารนับตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์จนถึงยุคปัจจุบัน และเบื้องหลังวิวัฒนาการทั้งหมดคือ ความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์นั่นเอง ซึ่งทั้งหมดนี้ถูกนำเสนอด้วยเทคนิค แสง สี เสียง อันทันสมัย ประกอบชิ้นงาน เครื่องเล่นทางวิทยาศาสตร์ สื่อประสมเชิงตอบโต้ เสริมด้วยกิจกรรมการเรียนรู้หลายประเภท เพื่อให้เกิดความสนุกสนาน เพลิดเพลิน ไปกับการเรียนรู้ภายในพิพิธภัณฑ์.
- โซน 1 ประตูสู่วิวัฒนาการเทคโนโลยีสารสนเทศ
ก้าวเข้าสู่เรื่องราวแห่งวิวัฒนาการของเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งเป็นหนึ่งในฟันเฟืองสำคัญที่ช่วยผลักดันให้มนุษย์มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นนับแต่อดีต ปัจจุบันและจะเป็นเช่นนี้ต่อไปในอนาคต
Highlight : นักเล่าเรื่องแห่งนวัตกรรมถ่ายทอดเรื่องราวของการสื่อสารต่าง ๆ ผ่านใบหน้า ด้วยเทคนิคแสง สี เสียง อันทันสมัย
- โซน 2 การสื่อสารยุคก่อนประวัติศาสตร์
พบกับจุดเริ่มต้นแห่งการสื่อสารที่แสดงให้เห็นศักยภาพของมนุษย์ในการคิดค้น หาวิธีการ เครื่องมือต่างๆ ในการเอาชนะข้อจำกัดต่าง ๆ เพื่อบรรลุภารกิจในการสื่อสาร โดยมนุษย์ในสมัยนั้นไม่อาจรู้ได้ว่า สิ่งที่คิดค้นนั้น ได้กลายเป็นก้าวแรกสู่เทคโนโลยีสารสนเทศที่ช่วยเปลี่ยนโลกถัดจากนี้ไปแบบก้าวกระโดด
Highlight : การบันทึก เป็นการถ่ายทอดข้อมูลข่าวสารอย่างหนึ่ง ในอดีต มนุษย์คิดค้นวิธีและอุปกรณ์การบันทึกไว้หลากหลายชนิด
- โซน 3 การสื่อสารยุคอิเล็กทรอนิกส์
ตื่นตาตื่นใจไปกับเทคโนโลยีการสื่อสารที่เกิดขึ้นหลังการค้นพบไฟฟ้าและคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ซึ่ง เปรียบเสมือนกุญแจไขกล่องนวัตกรรมด้านการสื่อสาร อุปกรณ์สื่อสารที่ถูกพัฒนาขึ้นเหล่านี้ได้ ย่อโลกการสื่อสารให้เล็กลงและมีคุณภาพมากขึ้นทั้งภาพและเสียง จนอาจกล่าวได้ว่าในยุคนี้ ระยะทางอาจเป็นเพียงอุปสรรคเล็ก ๆ ด้านการสื่อสารเท่านั้น
Highlight : สนุกกับการ ย้อนอดีตไปดูว่าโทรศัพท์ยุคแรก ๆ ทำงานอย่างไร ก่อนจะมาเป็นโทรศัพท์ทันสมัยในยุคปัจจุบัน และร่วมสัมผัสประสบการณ์การทำงานในห้องบันทึกรายการโทรทัศน์ พร้อมเรียนรู้ว่า ภาพ เสียง สี จากที่หนึ่งมาปรากฏในโทรทัศน์ของเราได้อย่างไรและ เรียนรู้การทำงานทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง กว่าจะมาเป็นรายการโทรทัศน์ที่เราชม
- โซน 4 การคำนวณ
เรียนรู้ “ระบบการคำนวณ” ที่ทำให้คณิตศาสตร์เปรียบเสมือนสิ่งมหัศจรรย์ที่ทำให้มนุษย์คาดการณ์เหตุในอนาคตได้ใกล้เคียงความจริงมาก เช่น เหตุภัยพิบัติต่างๆ การเคลื่อนที่ของวัตถุในอวกาศ ศาสตร์นี้ยังเป็นหัวใจสำคัญของ “ความเป็นอัจฉริยะ” ในประดิษฐกรรมเปลี่ยนโลกที่ชื่อว่า “คอมพิวเตอร์ “ อีกด้วย
Highlight
- ชมต้นแบบเครื่องคำนวณยุคแรก สู่ความปราดเปรื่องของ “คอมพิวเตอร์” แล้วฟันเฟืองทำงานอย่างไรจึงช่วยมนุษย์คำนวณตัวเลขมากมายได้
- รู้จักกับวงจรอิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็ก ทำงานด้วยหลักการทางคณิตศาสตร์ ที่เรียกว่า “ลอจิกเกต” ซึ่งเปรียบเสมือนส่วนหนึ่งของสมองภายในเครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มากมาย
- โซน 5 คอมพิวเตอร์
ชมวิวัฒนาการเครื่องคอมพิวเตอร์ตั้งแต่ใช้ระบบคำนวณแบบแรงมนุษย์สู่ระบบอัตโนมัติ พร้อมรู้จักส่วนประกอบต่าง ๆ ที่ล้วนเป็นปัจจัยสู่ความอัจฉริยะของคอมพิวเตอร์
Highlight : เรียนรู้ชุดคำสั่งเบื้องหลังการทำงานอันซับซ้อนของคอมพิวเตอร์ และได้เห็นวิวัฒนาการของภาษาคอมพิวเตอร์ที่มีความเรียบง่ายมากขึ้นเรื่อย ๆ
- โซน 6 เทคโนโลยีสารสนเทศกับการพัฒนาคุณภาพชีวิต
รู้จักประโยชน์ของเทคโนโลยีสารสนเทศต่อชีวิตมนุษย์ในด้านต่าง ๆ ที่เราอาจคาดไม่ถึง ทั้งการแพทย์ การศึกษา การคมนาคม การสื่อสาร ผ่านชิ้นงานสื่อประสมหลากแบบ
Highlight : สัมผัสประสบการณ์จำลองการขับรถโดยใช้ระบบนำทาง ที่ช่วยพาเราสู่จุดหมายปลายทาง
ที่อยู่
องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ เทคโนธานี เลขที่ 39 หมู่ 3 คลองห้า คลองหลวง ปทุมธานี 12120
วันและเวลาทำการ
วันอังคาร – ศุกร์ เวลา 09.30 – 16.00 น.
วันเสาร์ – อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 09.30 – 17.00 น.
(ปิดทำการทุกวันจันทร์)
ค่าเข้าชม
1. ค่าเข้าชม 3 พิพิธภัณฑ์ สำหรับผู้ใหญ่ 100 บาท (ทั้งชาวไทย/ต่างชาติ)
- พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์
2. ค่าเข้าชม 1 พิพิธภัณฑ์ สำหรับผู้ใหญ่ 200 บาท (ทั้งชาวไทย/ต่างชาติ)
- พิพิธภัณฑ์พระรามเก้า
3. ค่าเข้าชม บัตรรวมทั้ง 4 พิพิธภัณฑ์ สำหรับผู้ใหญ่ 300 บาท (ทั้งชาวไทย/ต่างชาติ)
4. ฟรี ค่าเข้าชมสำหรับเด็ก นักเรียน นักศึกษาระดับปริญญาตรี (อายุไม่เกิน 24 ปี โปรดแสดงบัตร) และผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป