หน้ารวมพิพิธภัณฑ์ พิพิธภัณฑ์พระรามเก้า อพวช.

บรรยากาศในพิพิธภัณฑ์

ข้อมูลพิพิธภัณฑ์

เนื่องในมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 อพวช. ได้รับความเห็นชอบให้ “โครงการพิพิธภัณฑ์พระรามเก้า” เป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อแสดงให้เห็นหลักการคิด วิธีการทรงงานและกระบวนการค้นหาคำตอบ ตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ที่ทรงนำไปแก้ปัญหาหรือพระราชทานแก่พสกนิกรในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วราชอาณาจักร ตลอดจนเป็นแบบอย่างแก่ผู้สนใจชาวต่างประเทศ และเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านความเข้าใจในความสำคัญและปัญหาของระบบนิเวศ การบริหารจัดการทรัพยากรดิน น้ำ ป่า เพื่อให้มนุษย์อยู่ร่วมกับระบบนิเวศธรรมชาติอย่างยั่งยืน

 

พิพิธภัณฑ์พระรามเก้า จึงเอื้อประโยชน์ต่อการเรียนรู้ของประชาชนชาวไทยอย่างลึกซึ้งและกว้างขวาง ในการส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจ และความตระหนัก ในบทบาทความสัมพันธ์ของระบบนิเวศที่สำคัญของโลกและของประเทศไทย อันจะนำไปสู่การมีจิตสำนึกในการรักษา อนุรักษ์ระบบนิเวศ และเตรียมรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติอย่างรู้เท่าทัน ตามแนวคิดและวิธีการทรงงานต้นแบบจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9

 

นิทรรศการพิพิธภัณฑ์พระรามเก้า จัดแสดงภายใต้หัวข้อหลัก “พระมหากษัตริย์นักพัฒนา การอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน” ประกอบด้วยส่วนจัดแสดงหลัก 6 ส่วน  ได้แก่

 

ส่วนที่ 1  โลกและการปรับตัวของสิ่งมีชีวิต

 

- นำเสนอเกี่ยวกับกำเนิดความเป็นมาของโลก อิทธิพลขององค์ประกอบต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอก โลก ที่ส่งผลต่อสิ่งมีชีวิตและวิวัฒนาการ การปรับตัวของสิ่งมีชีวิตเพื่อให้สามารถอยู่รอดได้ในระบบนิเวศต่าง ๆ ของโลกที่แตกต่างกัน ประกอบด้วย

ส่วนที่ 2 ระบบนิเวศและความหลากหลาย

- ดาวเคราะห์โลก ประกอบด้วยระบบนิเวศที่หลากหลาย แตกต่างกันไปตามสภาพภูมิประเทศ และภูมิอากาศ มีความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกัน เกิดขึ้นเป็นระบบใหญ่ ซึ่งก็คือโลกของเรา ความสัมพันธ์และความสมดุลระหว่าง สิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อมของระบบนิเวศแต่ละระบบ ประกอบด้วย ระบบนิเวศเขตหนาว  เขตอบอุ่น ทะเลทราย  และป่าเขตร้อน  ยังนำไปสู่ระดับความสมดุลของระบบนิเวศและของโลกด้วย

ส่วนที่ 3 การจัดการทรัพยากรน้ำ

- แสดงกำเนิดและการหมุนเวียนของน้ำในลักษณะวัฏจักร ความสำคัญของน้ำกับชีวิต ทั้งมนุษย์และ สิ่งแวดล้อม ในด้านของการองค์ประกอบในสิ่งมีชีวิต การเป็นที่อยู่อาศัย เป็นแหล่งอาหาร และก่อให้เกิดวัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิตแบบต่าง ๆ ความเปลี่ยนแปลงของน้ำและผลกระทบที่เกิดขึ้นทั้งในระดับโลกและภายในประเทศไทย อันนำไปสู่วิธีการบริหารจัดการและการแก้ปัญหาน้ำ เพื่อให้เกิดแนวทางในการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน

ส่วนที่ 4 การจัดการทรัพยากรดิน

- ที่มาและกำเนิดของ “ผืนดิน” และการที่มนุษย์ตั้งแต่ยุคโบราณรู้จักใช้และจัดสรรประโยชน์บนผืนแผ่นดิน และเมื่อเกิดปัญหาจากการใช้ประโยชน์  จึงต้องมีการหาวิธีบริหารจัดการดินอย่างถูกต้อง  เพื่อให้มนุษย์ยังคงมีทรัพยากรดินให้ใช้ได้อย่างยั่งยืน

ส่วนที่ 5 หอเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9

- แสดงถึงหลักการทรงงาน พระวิสัยทัศน์ และกระบวนการศึกษาปัญหาในธรรมชาติ อันเป็นที่มา ของโครงการในพระราชดำริกว่า 3,000 โครงการ และสิทธิบัตรในสิ่งประดิษฐ์อันเป็นประโยชน์ 8 รายการ ตลอดจนการเฉลิมพระเกียรติจากหน่วยงานต่าง ๆ ทั่วโลก ต่อโครงการในพระราชดำริ ซึ่งแสดง ให้เห็นถึงการยอมรับในพระปรีชาสามารถและผลประโยชน์ของโครงการต่อประชาชนและภูมิภาคต่างๆ ทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก ประกอบด้วย

ส่วนที่ 6 การจัดการทรัพยากรน้ำในภูมิภาคเอเซียแปซิฟิก

- เป็นการนำเสนอเกี่ยวกับสถานการณ์ของทรัพยากรน้ำในภูมิภาคเอเซียแปซิฟิก การใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ คุณค่าของ น้ำต่อวิถีชีวิต ของประชากรในภูมิภาค สถานการณ์ที่เป็นปัญหาเกี่ยวกับทรัพยากรน้ำ รวมทั้งการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เพื่อเป็นการ แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารที่สามารถใช้เป็นกรณีศึกษาและพัฒนาแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสม อันจะนำไปสู่ การพัฒนาความร่วมมือเพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของภูมิภาคอย่างยั่งยืนต่อไป

 

ส่วนที่ 1 OUR HOME

- BIGBANG
- SHELTER
- LIFE
- EVOLUTION AND MASS EXTINCTION
- HUMAN ODYSSEY

 

 

ส่วนที่ 2 OUR LIFE

- ANTARCTICA
- ARCTIC
- TUNDRA
- TAIGA
- DESERT
- TEMPERATE
- TROPICAL
- TAHILAND ECOSYSTEM SERVICE : SOIL
- THAILAND ECOSYSTEM SERVICE : WATER
- THAILAND ECOREGION

 

 

ส่วนที่ 3 OUR KING

- พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นแบบอย่างที่ดีของนักวิทยาศาสตร์ ทรงมีวิธีคิด วิเคราะห์ เพื่อแก้ปัญหาอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ทรงมองเห็นความสัมพันธ์ของทั้งระบบในองค์รวม เมื่อรวมเข้ากับหลักการบริหารจัดการ จึงนำมาสู่โครงการพระราชดำริ หลักคิด หลักปรัชญา ที่พระราชทานเป็นแนวทางในการดำรงอยู่ของมนุษย์กับโลกใบนี้อย่างยั่งยืน
- การเสด็จพระราชดำเนินไปทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับทราบ และเข้าใจถึงสภาพปัญหาของพสกนิกรที่มีความหลากหลายไปตามสภาพภูมิศาสตร์ จนนำมาสู่การแก้ไขปัญหาโดยอาศัยกระบวนการวิทยาศาสตร์
- การแก้ไขปัญหาด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มี 4 ประเด็นหลัก ได้แก่ ดิน น้ำ ป่า และคน (อาชีพ) เป็นการปรับปรุงทรัพยากรธรรมชาติให้เหมาะสมกับการใช้ประโยชน์ที่ยั่งยืนของประชาชนในท้องถิ่น
- พระเกียรติคุณและพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นที่ประจักษ์ทั้งในประเทศและสากล ดังจะเห็นได้จากการได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายรางวัล ทั้งจากหน่วยงานต่าง ๆ รวมไปถึงการทูลเกล้าฯ ถวายสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์ต่าง ๆ

ที่อยู่

องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ เทคโนธานี เลขที่ 39 หมู่ 3 คลองห้า คลองหลวง ปทุมธานี 12120

วันและเวลาทำการ

วันอังคาร – ศุกร์ เวลา 09.30 – 16.00 น.

วันเสาร์ – อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 09.30 – 17.00 น.

(ปิดทำการทุกวันจันทร์)

ค่าเข้าชม

1. ค่าเข้าชม 3 พิพิธภัณฑ์ สำหรับผู้ใหญ่ 100 บาท (ทั้งชาวไทย/ต่างชาติ)

- พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์
- พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา
- พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ

 

2. ค่าเข้าชม 1 พิพิธภัณฑ์ สำหรับผู้ใหญ่ 200 บาท (ทั้งชาวไทย/ต่างชาติ)

- พิพิธภัณฑ์พระรามเก้า

 

3. ค่าเข้าชม บัตรรวมทั้ง 4 พิพิธภัณฑ์ สำหรับผู้ใหญ่ 300 บาท (ทั้งชาวไทย/ต่างชาติ)

4. ฟรี ค่าเข้าชมสำหรับเด็ก นักเรียน นักศึกษาระดับปริญญาตรี (อายุไม่เกิน 24 ปี โปรดแสดงบัตร) และผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป

แผนที่